Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดหนองคาย

รองผู้ว่าหนองคายเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่าย ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จังหวัดหนองคาย

pll_content_description

     วันที่ 5 มิถุนายน 2562 เวลา 11.00 น.นายจิรศักดิ์ ศรีคชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย ให้แก่เจ้าหน้าที่ 5 เสือแรงงานจังหวัดหนองคาย นายจ้างลูกจ้างในสถานประกอบกลุ่มเสี่ยง และอาสาสมัครแรงงานระดับตำบล จำนวน 40 คน ณ โรงแรมพันล้านบูติค รีสอร์ท แอนด์โฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
    
นางวรรณกานต์ ขาวลาภ แรงงานจังหวัดหนองคายและผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย เพื่อให้ภาคีเครือข่าย มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายการค้ามนุษย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน มีความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้วิธีการแนะนำกลุ่มเป้าหมายได้ป้องกันตนเองไม่ให้เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และเพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ให้กับภาคีเครือข่าย ได้ทราบถึงลักษณะการกระทำความผิดและโทษของผู้กระทำผิด รวมถึงการช่วยเหลือและการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
    
รวมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP)เข้าใจในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเท่าเทียมกัน และเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นระบบที่ชัดเจนและมีการบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างแท้จริง ประกอบกับสภาพที่ตั้งของจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้มีแรงงานต่างด้าวและบุคคลไม่มีสัญชาติ ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากการที่จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนก่อให้เกิดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ ชายแดนไทย-สปป.ลาว อาทิ เช่น ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด ปัญหาการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายปรากฎอยู่เนืองๆ จึงเห็นควรจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคายขึ้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
    
นางวรรณกานต์ กล่าวต่อไปว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ.2562 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
    
มาตรา 6 “การค้ามนุษย์” หมายถึง ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย  พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจ โดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือ ผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้น เพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
    
นอกจากนี้ การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย ให้คำว่า “ค้ามนุษย์” หมายความรวมถึง “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ”ด้วย และให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีบังคับใช้แรงงาน หรือบริการด้วยโดยอนุโลม โดยถ้าการกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ขณะเดียวกันถ้าการกระทำความผิดเป็นกรณีที่ผู้บุพการี ให้ผู้สืบสันดานทำงานหรือให้บริการ เพราะเหตุความยากจนเหลือทนทาน หรือเมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นแล้ว ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดเลยก็ได้ฯ





 

 

 

 

 

 

TOP