Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดหนองคาย

5 เสือแรงงานหนองคายแท็กทีมออกตรวจสถานประกอบการ ตามแผนตรวจบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

pll_content_description

 

5 เสือแรงงานหนองคายแท็กทีมออกตรวจสถานประกอบการ

ตามแผนตรวจบูรณาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

          วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา 09.00 น.นางวรรณกานต์ ขาวลาภ แรงงานจังหวัดหนองคาย นางสาวรังสิมา ปรีชาชาติ ประกันสังคมจังหวัดหนองคาย นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหนองคาย ผู้แทนจัดหางานจังหวัด และผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานหนองคาย ได้ร่วมออกตรวจบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กิจการร้านอาหาร และร้านคาราโอเกะ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1. สวนอาหารระเบียงโขง มีนายจักรกฤษณ์ ดอนจันทร์โคตร เป็นนายจ้าง มีลูกจ้างชาวลาว จำนวน 4 คน ตรวจพบจำนวนลูกจ้าง 3 คน มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 2.ร้านอาหารครัวฟิชชิ่ง มีนายสัญชัย กิติอาษา เป็นนายจ้าง มีลูกจ้างชาวลาว จำนวน 8 คน และทุกคนมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 3.สวนอาหารดอกแก้ว มีนางปรียากร บูชากุล เป็นนายจ้าง มีลูกจ้างชาวลาว 3 คน ทุกคนมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 4.ร้านสวนอาหารห้วยอ้อคาราโอเกะ มีนายประเสริฐ สาริวงศ์ เป็นนายจ้าง มีลูกจ้างชาวลาว 7 คน มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 5. ร้านอาหารสวนพ่อตา มีนายรำพึง วงษ์ประจันต์ เป็นนายจ้าง มีลูกจ้างชาวลาว จำนวน 6 คน ทุกคนมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 6.ร้านอาหารครัวสวนป่า มีนายศักดิ์ดา ศรีสวาท เป็นเจ้าของ มีลูกจ้าง จำนวน 6 คน ซึ่งตรวจพบอยู่ในร้านจำนวน 4 คน มีใบอนุญาตทำงานทั้งหมด 7.ครัวสวนเกษตร มีนายคำรณ เป้าศิริ เป็นเจ้าของ มีลูกจ้างชาวลาว 5 คน มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย 8.ร้านธนูคำคาราโอเกะ มีนางสาวสุดารัตน์ สายืน เป็นเจ้าของ แจ้งว่ามีลูกจ้างชาวลาวจำนวน 2 คน และคนไทย 1 คน ขณะไปตรวจไม่พบลูกจ้างอยู่ในร้าน

          นางวรรณกานต์ ขาวลาภ แรงงานจังหวัดหนองคาย ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากการตรวจสถานประกอบการที่มีกลุ่มเสี่ยงทั้ง 8 ร้านดังกล่าว ไม่พบพฤติการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งได้แก่ แรงงานขัดหนี้,การหลอกลวง,การไม่จ่ายค่าจ้าง,การขู่เข็ญและการข่มขู่,การยึดเอกสารประจำตัวมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาที่ยาวนาน,การจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง,การรุนแรงต่อร่างกายและความรุนแรงทางเพศ,สภาพการทำงานและสภาพการดำรงชีพที่เลวร้าย,การละเมิดอันเนื่องมาจากความเปราะบางของแรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่อย่างใด แต่ได้พบบางสถานประกอบการที่ยังจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหนองคาย จะได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดหนองคายคือ 320 บาท นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดหนองคาย ได้แจ้งเตือนให้เจ้าของสถานประกอบการที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องยื่นสมัครประกันสังคมมาตรา 33 ให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไป

          นางวรรณกานต์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย มีบทบาท หน้าที่ ดังนี้ ๑.กำหนดยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคายตามประเด็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และประเด็นที่ถูกกล่าวหาและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) ๒.กำกับ ติดตามผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจังหวัดหนองคาย ๓.รายงานผลการดำเนินงานให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานกระทรวงแรงงานทราบทุกสองสัปดาห์หรือตามความเร่งด่วน ซึ่งรูปแบบการค้ามนุษย์ของไทย ประกอบด้วย 1.การค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศลักษณะนี้ก็คือการค้ามนุษย์เพื่องานบริการทางเพศ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง และเด็ก ซึ่งจะถูกหลอกหรือบังคับให้มาทำงาน โดยมีข้อผูกมัดกับภาระหนี้สิน 2.การค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและแรงงาน อาทิ การค้ามนุษย์เพื่อการรับใช้งานในบ้าน การค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทำงานในอุตสาหกรรมการเกษตร การทำงานในอุตสาหกรรมประมง 3.การค้ามนุษย์ เพื่อให้เป็นขอทาน โดยผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ จะได้มีหลากหลายวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง หรือชายฉกรรจ์

          สำหรับความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ 1.เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์ จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ 2.เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือ ส่งไปยังที่ใดหน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

          การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส การนำคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

การบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามวรรคสอง หมายความว่าการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1.ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของผู้อื่น 2.ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ 3.ใช้กำลังประทุษร้าย ๔.ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ ๕.ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

           มาตรา 7 ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ คือ 1.สนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ๒.อุปการะโดยให้ทรัพย์สิน จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ๓.ช่วยเหลือด้วยประการใดเพื่อให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์พ้นจากการถูกจับกุม ๔.เรียก รับ หรือยอมที่จะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ถูกลงโทษ ๕.ชักชวน ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรอาชญากรรม เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

          มาตรา 52 ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 1,200,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุ ไม่เกิน 15 ปี หรือ ผู้มีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 800,000  บาท ถึง 2,000,000 บาท

 
 
 
 
 

TOP